วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สูตรข้าวเหนียวมะม่วง สูตรเเม่ปู

ข้าวเหนียวมะม่วง





เมื่อวันก่อนมะม่วงแม็กซิกันราคางาม
ลูกละ ๕0เซ็นต์ คราวนี้โชคดี
มะม่วงหวานหอมอร่อยไม่ค่อยมีเสี้ยน
กินๆไปก็ว่าคล้ายๆมะม่วงน้ำดอกไม้บ้านเราอยู่นะ
มีใครว่าเหมือนแม่ปูไหมคะ
หน้ามะม่วงอย่างนี้ขนมไทยที่ขึ้นชื่ออีกเมนูหนึ่ง
ก็คือข้าวเหนียวมะม่วง มูนข้าวเหนียวไว้
จะกินกับมะม่วงสุกหวานหอมก็ได้
ยังสามารถกินกับไอศกรีมวานิลาได้อร่อยอีก
แม่ปูไม่ได้มูนข้าวเหนียวรสหวานจัดนัก
ชอบหวานน้อยๆมันๆเค็มๆรสกลมกล่อม
กินได้เรื่อยๆ ไม่แสบคอ
ถ้าใครชอบหวานจัด ต้องเพิ่มน้ำตาลทรายขึ้นอีกนะคะ
แม่ปูทำแบบเครื่องเคราไม่เต็มที่เท่าไหร่
ไม่มีถั่วทองโรย ไม่มีงามาโรย
บางคนชอบมันๆก็ราดกะทิเพิ่มอีกได้ตามใจชอบนะคะ






((แม่ปูใช้กะทิกระป๋อง))
วันนี้แม่ปูมูนข้าวเหนียวขาวและข้าวเหนียวสีเหลือง
ข้าวเหนียวสีเหลืองแม่ปูผสมขมิ้นผงลงไปแช่พร้อมกับข้าวด้วย
สัดส่วนต่างๆเท่ากับมูนข้าวเหนียวขาว
ยังไงครั้งหน้าจะเอาวิธีมูนข้าวสีเหลืองมาลงอีกทีนะคะ

สูตรนี้ไม่มากไม่น้อยค่ะ สำหรับครอบครัวเล็กๆกำลังดี


ข้าวเหนียวมูนมะม่วง

ข้าวเหนียว(ข้าวสาร) ๑ ๑/๔ ถ้วย
สารส้ม ๑ ช้อนชา
กะทิ ๓/๔ ถ้วย
น้ำตาลทราย ๑/๔ ถ้วย
เกลือ ๑/๒ ช้อนชา


ในอ่างผสมใบเล็ก แช่ข้าวเหนียวกับน้ำเปล่า
(เติมน้ำให้ท่วมข้าวสูงขึ้นมาประมาณ ๒ นิ้ว)
ใส่สารส้มลงละลายกับน้ำ ข้าวจะได้เป็นเม็ดสวย
แช่ข้าวไว้ประมาณ ๓-๔ ชั่วโมง หรือค้างคืน



ลังถึงบนเตากำลังนึ่งข้าว





เมื่อแช่ข้าวได้ที่ดีแล้ว ล้างข้าวให้สะอาด
ใส่ลังถึงรองด้วยผ้าขาวบางนึ่งข้าวให้สุก
ปรกติถ้านึ่งข้าวสีขาวสีเดียว แม่ปูนึ่งใส่หวด
วันนี้นึ่งข้าวเหนียวผสมขมิ้นด้วย
ก็เลยนึ่งรวมในซึ้งเดียวกันเลย จะได้สุกพร้อมๆกัน








ระหว่างที่นึ่งข้าว ก็เตรียมกะทิสำหรับมูนข้าวเหนียวรอไว้เลย
โดยผสมกะทิ น้ำตาลทราย เกลือ รวมกันในหม้อ
ยกขึ้นตั้งไฟ เปิดไฟกลางค่อนข้างอ่อน
ถ้าไฟแรงมากระวังกะทิจะแตกมันนะคะ
คนไปเรื่อยๆให้น้ำตาลละลาย
อุ่นให้กะทิร้อนก็ยกลงจากเตา





เมื่อข้าวสุกดีแล้ว เทใส่ภาชนะเกลี่ยข้าวให้ทั่ว
แล้วรีบเทกะทิสำหรับมูนลงไปในข้าวที่กำลังร้อนๆอยู่
ต้องรีบๆกะทิลงไปขณะข้าวร้อนๆอยู่นะคะ
ถ้าข้าวเย็นแล้วเทกะทิลงไปข้าวที่มูนออกมาอาจจะแฉะได้
คนให้กะทิกับข้าวคลุกเคล้าทั่วถึงกัน
ปิดฝาให้ข้าวดูดน้ำกะทิจนแห้ง จึงจัดเสิร์ฟ









คนข้าวเหนียมมูนให้ข้าวกระจายเล็กน้อย







จัดใส่จานเสิร์ฟกับมะม่วงหรือผลไม้ที่ชอบ






อร่อยค่ะ ไม่หวานจัดจนเกินไป





ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=pookhakae&month=17-07-2008&group=19&gblog=19


วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สูตรขนมหวานไทย :กล้วยเชื่อม



กล้วยเชื่อม 


ในที่สุดก็ถึงวาระที่ได้อัพบล็อกอีกครั้งหนึ่ง
วันนี้มากับขนมไทยแต่โบราณ กล้วยเชื่อม
กล้วยน้ำว้าเชื่อมสีแดงแจ่มด้วยธรรมชาติ
ปรกติแม่ปูเป็นคนที่ไม่ชอบกินกล้วยสดๆ
ไม่ว่าจะกล้วยชนิดใดก็ตาม โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า
ยิ่งไม่โปรดปรานใหญ่เห็นแล้วเมินหน้าหนี
แต่พอนำกล้วยน้ำว้ามาแปรรูปเป็นขนม
กล้วยฉาบ กล้วยเชื่อม กล้วยบวดชี กล้วยกวน กล้วยปิ้ง...
กลับกินได้กินดี โดยเฉพาะกล้วยเชื่อมอย่างสีแดงๆนี้
ชอบมากที่สุดในบรรดาของขนมกล้วยๆที่กล่าวมา
เมืองไทยกล้วยน้ำว้าหนึ่งหวีราคาไม่กี่บาท
อยู่ฟลอริดาอเมริกา กล้วยน้ำว้าเป็นกล้วยที่แพงที่สุด
ในบรรดากล้วยทั้งหมด คือปอนด์ละ ๑.๗๙ เหรียญ
มีใครถูกใครแพงกว่านี้อีกบ้างหรือเปล่าคะ
และกล้วยวันนี้ก็ลูกเล็ก ไม่ค่อยงามเท่าไหร่
เห็นเหลืองๆอย่างในรูป ยังไม่ค่อยสุกยังปอกเปลือกไม่ได้
ต้องบ่มในถังข้าวสารค้างไว้อีกคืนถึงงอมได้ที่พอดี
ไม่สุกมากเกินไป เอามาเชื่อมเนื้อแข็งอร่อยกำลังดี
แม่ปูไม่ชอบกล้วยเชื่อมเนื้อนิ่ม ใครชอบอย่างไหนก็ว่าไปนะคะ





กล้วยเชื่อม

กล้วยน้ำว้าห่าม ๑ หวี
น้ำตาลทรายแดง ๒ ถ้วยตวง
เกลือป่น ๑/๔ ช้อนชา
น้ำเปล่า ๓ ถ้วยตวง
น้ำปูนใสสำหรับแช่กล้วย

ถ้ากล้วยสุกมากแช่น้ำปูนใสเนื้อจะได้ไม่เละมาก
ถ้ากล้วยห่ามค่อนข้างดิบไม่ต้องแช่ก็ได้ค่ะ

กล้วยแม่ปูปอกเปลือกแล้วเหลือแต่เนื้อกล้วยล้วนๆราว ๗๐๐ กรัม
แม่ปูไม่ได้ผ่ากล้วยเลยนะคะ เพราะว่ากล้วยลูกเล็ก
กล้วยใครลูกใหญ่ปอกเปลือกแล้วจะผ่าสี่ก็ได้ค่ะ

วิธีทำ


ปอกกล้วยแช่ด้วยน้ำปูนใส ตรงนี้สำหรับคนที่กล้วยค่อนข้างสุกมากนะคะ
กล้วยแม่ปูค่อนข้างแข็งเล็กน้อย ไม่แช่ก็ได้ แต่มีน้ำปูนใส อยากแช่อ่ะ...
คนไม่มีก็ไม่ต้องกังวล เชื่อมได้เช่นกันค่ะ ใครที่หากล้วยน้ำว้าไม่ได้
กล้วยหอมก็ได้เลย ราคาถูกกว่ากล้วยน้ำว้าอีก (อย่างแถวบ้านแม่ปู เป็นต้น)
ถ้าหากใครแช่น้ำปูนใส แช่สักครึ่งชั่วโมงก็ได้ค่ะ







ใส่ทุกอย่างลงในหม้อพร้อมกันได้เลย น้ำ น้ำตาลทรายแดง เกลือ กล้วย
ปิดฝาหม้อยกขึ้นตั้งไฟ พอน้ำในหม้อเดือดให้ลดไฟลงเป็นไฟอ่อน
เวลาเคี่ยวจะเปิดฝาหม้อ หรือปิดฝาก็ได้ แต่ถ้าปิดฝาเคี่ยวน้ำเชื่อมจะเหนียวช้า
ให้เปิดฝาตอนใกล้ๆจะปิดเตาได้ ให้น้ำเชื่อมข้นสักหน่อย
น้ำเชื่อมแม่ปูวันนี้ข้นกว่าปรกติ เพราะว่าตอนท้ายๆไม่ได้อยู่ดูอย่างใกล้ชิด
ต้องรีบไปรับลูกคนเล็กที่โรงเรียน ให้ลูกคนโตเฝ้าให้ โดยตั้งเวลาไว้ให้
กลับมาเห็นน้ำเชื่อมข้นมากเกินไปเล็กน้อย แต่ก็ยังพอใจในความอร่อยอยู่
เคี่ยวไปเรื่อยๆค่ะ จนกล้วยเป็นสีแดง น้ำเชื่อมข้นจนพอใจก็ยกลงจากเตาได้






รูปนี้ผ่านไปแล้ว ๑ ชั่วโมง






รูปนี้เกือบๆสองชั่วโมงแล้วค่ะ เลยเปิดฝาเคี่ยวต่อให้น้ำเชื่อมข้น
กล้วยก็สีแดงจัดมากยิ่งขึ้น แต่อย่าเคี่ยวนานเกินไป
ถ้ากล้วยค่อนข้างแข็งอยู่แล้ว เคี่ยวนานไปจะแข็งมากยิ่งขึ้น
สังเกตเอาด้วยนะคะ ไม่ต้องตามเวลาแม่ปูบอกเป๊ะๆ





สุดท้ายก็ได้กล้วยน้ำว้าเชื่อมสีแดงๆรสอร่อยไว้รับประทาน





จัดใส่จานรับประทานร้อนๆ หรือเย็นก็ได้ตามใจชอบ
จะราดกะทิด้วยก็อร่อย แม่ปูชอบทานแบบนี้เลยค่ะ ไม่ต้องราดกะทิ
จริงๆถ่ายรูปราดกะทิไว้ด้วยค่ะ แต่ว่ารูปมืดมากถ่ายกลางคืน
จะถ่ายซ่อมก็ไม่มีแล้ว กินหมดภายในไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง แหะๆ..



ขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=pookhakae&month=02-2012&date=02&group=19&gblog=31 




สูตรขนมหวานไทย : ลูกชุบ




 สูตรขนมหวานไทย : ลูกชุบ




ขนมลูกชุบ




ลูกชุบกับศิลปะความงามของขนมไทยอีกอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของหลายๆคน สีสัน รูปทรงสวยงามน่ารัก
สามารถใช้ลูกชุบเป็นสื่อกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว
เป็นกิจกรรมยามว่างที่เด็กๆสามารถร่วมกันทำกับพ่อแม่ได้
มีทั้งให้เด็กๆฝึกปั้น ฝึกระบายสี ช่วยให้เด็กๆมีสมาธิที่ดี..^_^





ดีอย่างนั้นแล้วแม่ปูก็เพิ่งจะมาหัดทำค่ะ
ไม่เคยนึกอยากทำลูกชุบมาก่อนเลย
เรื่องกวนถั่วอะไรอย่างนี้ไม่มีปัญหา ไม่กลัว
แต่หวั่นใจเรื่องการปั้น และที่กังวลมากที่สุดคือการลงสี
ซึ่งเป็นเรื่องที่คิดว่าตัวเองไม่สามารถทำได้ดีแน่ๆ
เห็นใครๆทำลูกชุบออกมาก็ได้แต่นึกชื่นชม ดีใจไปด้วยกับผลสำเร็จ
แต่ก็ไม่นึกอยากจะลงมือทำ...จนมาถึงวันนี้..







ลูกสาวมาบอกว่า ครูให้ทำรายงานเกี่ยวกับประเทศแถบเอเชีย
ครูแบ่งให้นักเรียนแต่ละคนไปทำรายงาน นักเรียนหนึ่งคนต่อหนึ่งประเทศ
และครูรู้ว่าเจนนี่มีแม่มาจากเมืองไทย เจนนี่ก็เกิดที่เมืองไทย
เคยกลับไปเยี่ยมเมืองไทยมาบ้างแล้ว ครูก็เลยมอบหมาย..
ให้ลูกได้ทำรายงาน เกี่ยวกับประเทศไทย
ตอนนี้เธอกำลังทำอยู่ โดยทำเป็นพาวเวอร์พอยต์
เขียนตั้งแต่เรื่องอาหาร การแต่งกาย ภาษาที่ใช้ พิธีกรรมต่างๆ
การแต่งงาน การผลิตและการส่งออก และอื่นๆที่จะค้นคว้าได้

ครูก็ว่าใครได้ประเทศอะไรก็ให้ทำอาหารของประเทศนั้นมาแบ่งกันชิมด้วย
งานนี้ถ้าทำไม่ดีจะเสียหน้ามากเลย เพราะครูและเพื่อนๆรู้ว่าแม่มาจากไทยแลนด์
ฮ่าๆ คุณแม่ห่วงหน้าห่วงตามาก และก็มีเด็กอีกคนหนึ่งที่แม่มาจากญี่ปุ่น
ก็ได้ประเทศญี่ปุ่นไป เพื่อนๆคนอื่นๆก็แบ่งๆประเทศกันไปไม่มีระบุพิเศษ
แม่ปูก็เลยต้องลุกขึ้นมาหัดปั้นขนมลูกชุบนี่แหละ เพื่อจะให้ลูกเอาไปประกอบการทำรายงาน






แม่ปูปั้นลูกชุบไปทั้งหมดประมาณ ๒๐๐ ลูกราวๆนี้ค่ะ ไม่ได้นับแน่ๆ
โดยกวนถั่ว ๒ ครั้ง ครั้งที่สองนี่ถั่วยังเหลืออยู่กินยังไม่หมด (กินมั่งเล่นมั่ง)
ปั้นครั้งแรกที่ทำเอาไปให้ครูของเจนนี่ดู ขี้เหร่มาก แต่ลูกว่าเริ่ดมาก
อยากเอาไปให้ครูดูก็เลยให้ลูกเอาไป สีที่ลงก็แปร้ดเห็นแล้วแสบตา..


ปั้นรอบที่สอง ปั้นให้นิคกี้เอาไปฝากครูประจำชั้น
พอดีวันนั้นเด็กๆเรียนเกี่ยวกับเรื่องอิเมกรชั่น
ว่าด้วยเรื่องคนต่างชาติที่เข้ามาในประเทศอเมริกา
ลูกก็ถามว่าทำไมแม่มาอยู่อเมริกา ..นั่นสิ..ทำไม ฮ่าๆ
พอแม่ปูส่งขนมไป ครูประจำชั้นก็แจกให้เด็กๆทุกคนชิม
พอลูกกลับถึงบ้านลูกก็เล่าให้ฟัง แม่ปูก็ถามว่าเพื่อนๆชอบกันไหม
นิคกี้เล่าว่า เพื่อนบอกว่าso gross! แงๆๆๆๆๆ..ช้ำใจๆ ใจไปอยู่ที่ตาตุ่มหมด


แต่พอวันต่อมา ครูเขียนโน้ตมาขอบคุณเรื่องขนม
แค่นี้ยังไม่พอ ครูให้เด็กๆทั้งชั้นเขียนจดหมายขอบคุณเรื่องขนม
ครูน่ารักมากเลย ที่กู้ใจแม่ปูคืนมาอยู่ตรงหน้าอกได้สำเร็จ
แม้ขนมคนละชิ้นเล็กๆ แต่ครูก็ไม่ละเลยที่จะสอนให้เด็กๆรู้จักคำว่าขอบคุณ
รู้สึกดีใจมากเลยที่ลูกได้อยู่กับครูประจำชั้นดีๆแบบนี้
เด็กๆก็ได้เรียนเรื่องการแสดงความขอบคุณต่อผู้ที่มีน้ำใจแก่ตัวเอง
ได้หัดขีดหัดเขียน แสดงน้ำใจอะไรต่างๆ
จริงๆแม่ปูก็รู้นะว่าเด็กๆคงจะไม่ชอบกันหรอก
เพราะไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น ไม่เคยกิน แค่เด็กได้เห็นเราก็ดีใจแล้ว
เด็กแต่ละคนเขียนข้อความใส่กระดาษคนละแผ่น
โดยครูขึ้นต้นให้ว่า Dear Mrs......
Thank you for the desert from thailand.
แล้วต่อจากนั้นเด็กๆก็เขียนแสดงความรู้สึกของตัวเอง
บางคนก็บอกตรงๆว่าไม่ชอบ แต่ก็ขอบคุณที่เรานึกถึงเค้า
บางคนก็ว่าดีใจที่ได้ลองชิมขนมจากเมืองไทย
บางคนก็ว่าชอบรูปร่างรูปทรงของขนม เด็กๆในห้องทั้งหมด ๑๗ คน
ขาดเรียนไป ๒ คน ก็เลยมีจดหมายขอบคุณเย็บติดกันมาทั้งหมด ๑๕ แผ่น
รวมของครูประจำชั้นด้วย เป็น ๑๖ แผ่น เป็นสิ่งที่ประทับใจมากๆเลยค่ะ

นิคกี้เขียนว่า Dear Mom, Thank you for the desert from thailand.
everyone "kinda"enjoyed sharing it.thank you for leting me share it
with my calss. แล้วเค้าก็วาดการ์ตูนเล็กๆน้อยๆตลกๆให้แม่ปูดู


นี่ก็เป็นกำลังใจที่จะทำให้แม่ปูมีใจฮึดสู้ทำขนมลูกชุบให้พี่เจนนี่ต่อ
วันส่งงานจริงๆสิ้นเดือนนี้ค่ะ ช่วงนี้เท่ากับเป็นการฝึกฝีมืออยู่ค่ะ
คงจะอีกนานแสนนานกว่าจะทำได้สวยๆ แต่เท่าที่ทำมา
แม่ปูก็คิดว่าตัวเองปั้นได้ดีขึ้นบ้าง การลงสีก็ดีขึ้นหน่อยนะ
ไม่ขอเปรียบกับมืออาชีพที่เค้าทำขายละ ยังไงฝีมือก็ต่างกันสุดขั้ว
แต่ว่าฝีมือพัฒนาขึ้นบ้างจากการเปรียบเทียบกับ การปั้นชุดแรก
กับชุดที่สองต่อมาของตัวเองที่ดีขึ้นมาบ้างแม่ปูก็พอใจแล้วค่ะ



ชุดที่สามแม่ปูปั้นให้พ่อบ้านถือไปที่ทำงานค่ะ ก็ได้รับเสียงฮือฮาการตอบรับกลับมาเป็นอย่างดี


รุ่นนี้ที่ปั้นให้นิคกี้เอาไปฝากครูประจำชั้นและแบ่งกับเพื่อนๆ




พ่อบ้านบอกว่า ถ้าหากปั้นเป็นรูปโปเกมอน มาริโอ อะไรพวกนี้เด็กๆคงจะชอบมากกว่า อิอิ





ซูมที่ข้าวโพดซะหน่อย





รูปนี้ที่ปั้นครั้งแรกจริงๆค่ะ มีแตกมั่งอะไรมั่ง แล้วก็ปั้นลูกเล็กมาก





รูปนี้ที่ปั้นครั้งแรกจริงๆอันเดียวกับที่เสียบไม้ปักโฟมข้างบนนี้
มาถึงวันนี้รู้สึกอายครูประจำชั้นเจนนี่นะเนี่ย
สีมันแปร๋น และปั้นไม่สวยเลย แต่ก็เอาให้ลูกไปอวดครูซะแล้ว
แล้วสียังตกใส่กันซะด้วย แต่ก็ดี จะได้มีแรงฮึดทำไปกู้หน้าต่อ อิอิ






ลูกชุบ

ถั่วเขียวเราะเปลือก ๔๐๐ กรัม
กะทิ ๑ กระป๋อง
น้ำตาลทราย ๓๐๐ กรัม
เกลือป่น ๑/๔ ช้อนชา
น้ำเปล่า ๑/๒ ถ้วยตวง



ส่วนผสมวุ้นที่ใช้เคลือบ

ผงวุ้น ๑ ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่า ๒ ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย ๑/๔ ถ้วยตวง

อุปกรณ์สำหรับขั้นตอนการปั้นและการลงสี

สีผสมอาหาร แดง เขียว เหลือง ม่วง ตามชอบ
ไม้เสียบลูกชิ้น
ถ้วยผสมสี
พู่กัน
น้ำล้างพู่กัน
น้ำสะอาดสำหรับผสมสี
ผ้าขาวบางสำหรับคลุมถั่วไม่ให้แห้ง
อ่างน้ำล้างมือ
โฟมสำหรับปักลูกชุบ

((ตอนแรกแม่ปูใช้ไม้จิ้มฟันเสียบลูกชุบ
พอครั้งต่อมาทำอีก ไม้จิ้มฟันนิคกี้เอาไปเล่นหมด
ก็เลยใช้ไม้เสียบลูกชิ้นเสียบ ปรากฏว่าไม้เสียบลูกชิ้นใช้ดีกว่าไม้จิ้มฟันค่ะ
เอาด้านที่ทู่ๆเสียบลูกชุบ ด้านปลายแหลมเอาปักเสียบบนโฟม))



วิธีทำถั่วกวน

๑.ล้างถั่วให้สะอาดแล้วแช่น้ำไว้ค้างคืน




๒.นึ่งถั่วให้สุก แล้วนำไปบดให้ละเอียด





แม่ปูแบ่งถั่วบดสองครั้งค่ะ เครื่องจะได้ทำงานง่ายๆ
ใส่ถั่วลงไปในเครื่องปั่น ตามด้วยกะทิครึ่งกระป๋อง น้ำเปล่า ๑/๔ ถ้วยตวง
ใส่น้ำตาลและเกลือลงไปด้วยเลยค่ะ ปั่นให้เนียนละเอียดยิบ
ปั่นเสร็จก็เทใส่กระทะ ปั่นถั่วที่เหลือใส่กะทิใส่น้ำตาลเกลือ
น้ำเปล่าที่เหลือปั่นให้ละเอียดเหมือนเดิม




ปั่นฉึกๆๆๆ...





จนเนียนดี




เทใส่กระทะสำหรับกวน แม่ปูมีกระทะทองเหลืองแต่อันเล็กใส่ไม่พอ
ก็เลยใส่กระทะเทฟล่อนกวนค่ะ ใช้ได้ไม่มีปัญหา
เปิดไฟกลางค่อนข้างอ่อน กวนส่วนผสมถั่วไปเรื่อยๆจนแห้ง
ใช้เวลาการกวนทั้งหมดประมาณ ๑ ชั่วโมง





ยืนกวนไปเรื่อยๆค่ะ แม่ปูยืนอ่านหนังสือหน้าเตานี่เลย
มือหนึ่งก็กวนถั่วไปเรื่อยๆ มือหนี่งก็พลิกหนังสืออ่าน หุหุ จะได้ไม่เบื่อ




ถ้าไฟแรงไปก็ลดไฟลงหน่อย หรือถ้าไฟอ่อนเกินไปก็เพิ่มได้




กวนไปค่ะ ใช้ไม้พายวนไปรอบๆทำไปเรื่อยๆ






เริ่มกวนยากขึ้น แต่ก็ใกล้จะเสร็จแล้วค่ะ





กวนไปจนถั่วไม่ติดไม้พาย ถั่วร่อนจากกระทะ จับดูก็ปั้นได้ไม่เหนียวติดมือ




ประมาณนี้




เอาถั่วออกจากกระทะ คลุมด้วยผ้าขาวบางชุบน้ำหมาดๆพักไว้ให้ถั่วคลายความร้อน
เมื่อถั่วเย็นแล้วก็นวดสักหน่อยค่ะ แล้วจึงห่อด้วยพลาติกใสกันแป้งแห้ง
เตรียมพร้อมสำหรับขั้นตอนการปั้น และการลงสีต่อไป






ขั้นตอนการปั้น

แม่ปูไม่มีฝีมือการปั้นพอที่จะสอนใครได้นะคะ ปั้นมั่วๆ
มีน้องคนหนึ่งเค้าสอนมาว่าให้ปั้นเป็นลูกกลมๆไว้ก่อน แล้วก็ขึ้นรูปเป็นรูปโบว์ลิ่ง
แล้วก็ปั้นรูปอื่นๆไปตามจินตนาการ ทั้งหมดที่ปั้นมานี่ ง่ายสุดๆแล้วค่ะ
แต่กว่าจะปั้นได้แต่ละลูกก็นั่งหลังขดหลังแข็งอยู่ทั้งวัน
ถ้าจะทำให้เร็วให้สวย ต้องมีทักษะ โดยการหมั่นฝึกฝนอยู่บ่อยๆ
คนที่สามารถทำขายเป็นอาชีพได้นี่ ต้องเป็นเซียน เป็นเทพมากๆ
มีความมานะ บากบั่น เพียรพยายามน่านับถือมากๆค่ะ
ขนาดว่าบางคนที่ทำขายจะใช้พิมพ์อัดให้เป็นรูปต่างๆ
แม่ปูก็ยังว่ามีน้ำอดน้ำทนมากเลย กว่าจะได้แต่ละอันมันใช้เวลาไม่น้อย

สำหรับลูกชุบที่แม่ปูทำนี้ก็ดูพอเป็นแนวทางก็พอค่ะ
จากนั้นก็เป็นเรื่องของทักษะความพยายามของผู้ทำเองค่ะ


อุปกรณ์ที่สำคัญ บางส่วน




แบ่งถั่วมาประมาณ ๑ ใน ๓ ของที่กวนเตรียมไว้แล้ว
คลึงให้เป็นรูปแท่งยาวๆ ตัดแบ่งถั่วออกเป็นก้อนเล็กๆ ชั่งให้ได้ ๑๐ กรัม
หรือจะทำเล็กกว่านี้ หรือใหญ่กว่านี้ก็แล้วแต่ใจชอบค่ะสำหรับแม่ปู ๑๐ กรัม กำลังพอดี
แต่ในอนาคตไม่แน่ อาจจะทำใหญ่กว่านี้ก็ได้ หุ.หุ.




จากนั้นก็ปั้นเป็นก้อนกลมๆไว้ คลุมด้วยผ้าขาวบางชุบน้ำหมาดๆด้วยนะคะ
ถั่วจะได้ไม่แห้งแตก
เม็ดเล็กๆที่เห็นในถ้วยเล็กๆนั้น แม่ปูปั้นไว้ทำจุกมังคุดค่ะ

ปั้นใส่ถาดไว้ก่อน ใกล้ๆเวลาจะลงสีค่อยเสียบไม้เตรียมลงสี
ถาดนี้ที่ทำครั้งแรกเลยค่ะ



ถาดนี้พัฒนาขึ้นมาหน่อยนะ ปั้นก้อนใหญ่ขึ้นด้วย ขนาด ๑๐ กรัม





ข้าวโพด คลึงให้เป็นแท่งยาว หัวท้ายมนๆหน่อย ใช้มีดกดเป็นร่องๆให้เหมือนฝักข้าวโพด





ชมพู่ คลึงๆให้เป็นรูปแบบเจดีย์ แล้วเอาปลายตะเกียบด้านหนาๆกดก้นให้เป็นร่องเล็กน้อย
จริงๆแม่ปูไม่ได้ใช้ตะเกียบกดค่ะ ใช้ปลายส้อมที่จิ้มฟองดูว์กด
แต่พูดถึงตะเกียบคนจะมองภาพออกมากกว่า ปลายส้อมแม่ปูมันจะมนๆใช้ดีค่ะ






มังคุดนี่ง่ายที่สุด แล้วก็น่ารักมากๆด้วย แค่ปั้นลูกกลม แล้วทำจุกให้









มะเขือม่วงแม่ปู คลึงเป็นรูปโบว์ลิ่ง แล้วก็ทำจุกเป็นขั้วข้างบนให้





แบบนี้






พอปั้นได้ครบแล้วก็ถึงขึ้นตอนการลงสี
ถ้าผลไม้ชนิดใดมีสองสี ก็ให้ลงสีแรกก่อน แล้วตากให้แห้ง
พอสีแห้งแล้วค่อยลงสีที่สองต่อ สีจะได้ไม่ซึมเลอะเข้าหากัน





การชุบวุ้น


ผสมน้ำ น้ำตาลทราย และวุ้นลงในหม้อ คนให้เข้ากัน
ยกหม้อตั้งบนเตา คนให้น้ำตาลละลาย ส่วนผสมเดือดและข้นเป็นเมือกๆ
ใช้เวลาประมาณ ๑๐- ๑๕ นาที กรองด้วยผ้าขาวบาง
เผื่อมีเศษอะไรต่างๆที่ไม่พึงประสงค์จะได้ทิ้งไป
แล้วเทน้ำวุ้นใส่ในภาชนะทรงสูงเล็กน้อย จะได้ชุบง่ายๆ
ชุบรอบแรกเสร็จแล้วพักลูกชุบให้วุ้นแห้งเล็กน้อยแล้วค่อยชุบรอบที่สอง
และรอบที่สามตามลำดับ เมื่อวุ้นแห้งดีแล้ว ดึงวุ้นออกจากไม้เสียบ
ใช้มีดหรือกรรไกรเล็มวุ้นส่วนเกินทิ้งไป จัดใส่จานรับประทานได้ทันที





การชุบวุ้นตอนแรกแม่ปูชุบแค่ ๒ รอบค่ะ
ชุบรอบแรกพักวุ้นให้แห้งแล้วค่อยชุบรอบสอง
พอดีไปโพสต์ที่เฟสบุ้คด้วย ก็ถามๆเพื่อนๆในนั้นว่าสีมันซึมออกมา
ทำยังไงไม่ให้สีตกใส่กัน ก็ได้ความว่าควรชุบวุ้นให้หนาเล็กน้อย
ครั้งหลังแม่ปูก็เลยชุบ ๓ รอบค่ะ







ภูมิใจกับพริกสีแดงๆมากเลย ฮ่าๆ พอดีมีต้นพริกปลูกอยู่
ก็เลยเด็ดขั้วมาปักประดับให้เหมือนจริง
ส่วนแครรอทก็เอาใบพาสลีย์มาเสียบปลายให้เป็นใบแครอทได้






แครอท รูปนี้ไม่เห็นลายที่กดไว้เลย สีก็ออกแดงซ้า






เรียงเดี่ยวมาเลย พริก มะละกอ ข้าวโพด แอ้กแพลน ชมพู่ น้ำเต้า(พ่อบ้านกับลูกบอกว่าลูกแพร์)
มังคุด แครอท มะม่วง สตอร์วเบอร์รี่ (แม่ปูกดเป็นจุดๆด้วยค่ะแต่ถ่ายรูปไม่เห็น)




ลูกชุบขณะที่ชุบวุ้นอยู่ค่ะ





มะละกอ คลึงให้เป็นรูปโบว์ลิ่ง แล้วก็ใช้นิ้วหัวแม่มือก้บนิ้วชี้
กดปลายให้ทู่ๆออกมา แม่ปูคงจะอธิบายไม่ค่อยเป็นค่ะ แต่ลองทำดูมันจะเป็นเอง







เอ้กแพลน มะเขือม่วง





ชมพู่







มะม่วง ชอบรูปทรงมะม่วงรอบนี้มาก คิดว่าสวยค่ะ


จริงๆถ่ายรูปเยอะมากๆค่ะ ที่มีอีกก็สวยๆเยอะ แต่ภาพใกล้เคียงกัน
ก็เลยคัดเลือกมาเท่านี้ค่ะ กลัวว่าเพื่อนๆจะตาลายกันไปซะก่อน






ถือว่าแบ่งกันชมเพลินๆก็แล้วกันค่ะ ไม่กล้าสอนใคร
เพราะตัวเองก็แทบแย่เหมือนกัน






ขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=pookhakae&month=01-2011&date=11&group=19&gblog=30

Calendar